msgbartop
เรื่อยๆ เปื่อยๆ กับ kasemsakk
msgbarbottom

01 มิ.ย. 11 จิตอาสากับการสำเร็จการศึกษา : รูปธรรมหรือของเล่นชิ้นใหม่

“จุฬาฯ ตั้งเป้า 2 ปี สู่ ม.สร้างเสริมสุขภาพ บังคับปี 1 ทำกิจกรรมอาสา บันทึกลงทรานสคริปต์”

“จุฬาฯ ตั้งเป้า 2 ปีสู่ “มหา’ลัยสร้างเสริมสุขภาพ” เต็มตัว อธิการฯ เผย ปีหน้านิสิตปี 1 ทุกคน ต้องเน้นกิจกรรมอาสา อย่างน้อย 10 ชั่วโมง/ปี เป็นเวลา 3 ปี บันทึกลงทรานสคริปต์ หวังกระตุ้นการมีจิตสำนึก+จิตอาสา เตรียมถกหามาตรการหากนิสิตไม่ปฏิบัติตาม จะไม่ให้จบการศึกษาหรือไม่”

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000006624

————————————————————————————————————————————————-

นี่คือหัวข้อข่าวจากเว็บไซต์ข่าวเว็บหนึ่ง ที่ระบุว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะนำเรื่องของการทำกิจกรรม “จิตอาสา” มาบังคับใช้กับนิสิตชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาตรี ในปีการศึกษา 2554 โดยจะต้องทำกิจกรรมที่เป็นกิจกรรมอาสา จำนวน 10 ชั่วโมง/ปี เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีการระบุว่ารูปแบบของกิจกรรมจะเป็นการรวมกลุ่มกับเพื่อน หรือคณะ หรือมหาวิทยาลัย มีการบันทึกลงในเมื่อสำเร็จการศึกษา

โดยทางอธิการบดีจุฬาฯ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ได้ให้ความเห็นว่า “การบันทึกความดีลงทรานสคริปต์จะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการไปสมัครงาน ซึ่งจะทำให้นายจ้างเห็นได้ว่านิสิตนอกจากจะขยันเรียนแล้ว ยังทำประโยชน์ให้แก่สังคมด้วย เพื่อให้สมกับเกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าจะเป็นปีแรกในการดำเนินการ หากนิสิตคนใดไม่สามารถปฏิบัติได้ตามที่กำหนดก็อาจจะยังไม่มีการดำเนินการ อะไร แต่จากการหารือร่วมกับคณบดีคณะต่างๆ ในเบื้องต้น มีบางรายได้เสนอว่าหากไม่ถึงอาจจะไม่ให้จบการศึกษา แต่ประเด็นนี้จะเป็นข้อสรุปหรือไม่คงต้องหารือกันต่อไป”

ฟังดูแล้วคำว่า “จิตอาสา” เหมือนจะเป็นคำใหม่ที่ดูแปลกหูสำหรับคนไทย และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย (เหมือนกับคำว่า “โลกร้อน” และ “พอเพียง” ที่ถูกนำมาใช้เป็นกระแส จนอาจถูกบิดเบือนความหมายออกไป)

แต่เมื่อมองดูแล้ว “จิตอาสา” ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อย่างที่หลายๆ คนคิด แต่มันก็คือการทำกิจกรรมที่ผู้ทำลงไปเป็น “อาสาสมัคร” หรือการ “ทำความดี” นั่นเอง

หากจะอ้างอิงความหมายของ “จิตอาสา” หรือ “อาสาสมัคร” ก็อยากจะอ้างถึงวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ให้ความหมายไว้ว่า “การมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น” และ “การใช้แรงงานและกายทำเพื่อส่วนรวม”

กิจกรรมจิตอาสา หรืออาสาสมัครก็มีให้เห็นอยู่มากมายหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่นในกรณีที่มีเหตุด่วนเหตุร้าย หรือภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้น ก็จะพบกับกับกิจกรรมเหล่านี้ เช่น การบริจาคโลหิตเมื่อมีข่าวการขอรับ การลงไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในเหตุภัยพิบัติต่างๆ หรือการแจ้งเบาะแสของโจรผู้ร้ายให้แก่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง

หรือการทำความดีเล็กๆ น้อยๆ เช่นการช่วยจูงเด็กหรือผู้สูงอายุข้ามถนน การให้ที่นั่งผู้อื่นบนรถโดยสาร การทิ้งขยะลงถังก็ถือเป็นการทำความดีเช่นกัน

ล่าสุดที่จุฬาฯ จะนำเอาเรื่องการนับชั่วโมงกิจกรรมมาใช้ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งในนโยบายที่ทางผู้บริหารต้องการให้นิสิตที่จบออกไปนั้นมีคุณภาพ มีการทำประโยชน์แก่สังคมในด้านต่างๆ

————————————————————————————————————————————————-

เมื่อมามองในกรณีที่จุฬาฯ จะนำการเก็บชั่วโมงกิจกรรมมาใช้ แน่นอนว่าในทางทฤษฎีนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของตัวนิสิต รวมไปถึงมหาวิทยาลัย

แต่ในทางปฏิบัติ ยังพบข้อปัญหาอีกหลายประการที่จะต้องหาแนวทางในการจัดการให้เป็นมาตรฐานได้

1. การนับจำนวนชั่วโมงกิจกรรม

จุฬาฯ ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการทำกิจกรรมค่อนข้างมาก ทั้งกิจกรรมของมหาวิทยาลัย กิจกรรมคณะ การรวมกลุ่มของนิสิตด้วยกันเองในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมของนิสิตที่ทำในนาม “สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

– การกำหนดชั่วโมงในแต่ละกิจกรรมจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นหากไปทำค่ายพัฒนาชุมชน 9 วัน จะได้จำนวนชั่วโมงเท่าใด หากทำกิจกรรมภายในคณะ จะนับเป็นชั่วโมงกิจกรรมหรือไม่ หรือแม้กระทั่งไปร่วมงานที่ทางสโมสรนิสิตฯ เป็นผู้จัด จะได้จำนวนชั่วโมงเท่าใด

– จากด้านบน จะให้หน่วยงานใดเป็นผู้กำหนดจำนวนชั่วโมงกิจกรรม จะให้ทางผู้บริหาร คณบดี อาจารย์ หรือนิสิตด้วยกันกำหนดจำนวนชั่วโมงที่จะได้รับ และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจำนวนชั่วโมงที่ได้รับนั้นเหมาะสมแล้ว

2. ประเภทของกิจกรรม

กิจกรรมประเภทสันทนาการที่จัดขึ้น เช่น กิจกรรมรับน้อง กิจกรรมสำรวจจุฬาฯ หรือกิจกรรมที่เป็นงานพิธีต่างๆ เช่น พิธีรับปริญญาบัตร พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ ซึ่งไม่มีลักษณะของการเป็นกิจกรรมอาสา จะมีการนับจำนวนชั่วโมงหรือไม่

รวมทั้งหากเป็นกิจกรรมอาสา แต่ไม่ได้มีการรวมกลุ่มของนิสิตกันไป (ไปทำคนเดียว) จะถือว่าเป็นการทำกิจกรรมอาสาและได้นับจำนวนชั่วโมงหรือไม่

3. มาตรการในการควบคุมการปฏิบัติ

การให้สัมภาษณ์ของอธิการบดี ได้มีการกล่าวถึงการประชุมคณบดี ซึ่งมีคณบดีบางท่านได้ให้ความเห็นว่าอาจมีมาตรการถึงขั้นไม่ให้จบการศึกษาหากปฏิบัติไม่ครบจำนวนชั่วโมง

นี่กลายเป็นว่าการทำ “กิจกรรมอาสา” หรือ “จิตอาสา” ต้องเป็นการบังคับกันแล้วหรือครับ?

ชื่อกิจกรรมก็บอกแล้วว่าเป็น “จิตอาสา” แต่มีการบังคับว่าต้องทำให้ได้เท่านั้นเท่านี้ ดูแล้วมันแปลกๆ นะครับ

และหากมีการกำหนดชั่วโมงออกมา จะมั่นใจได้อย่างไรว่านิสิตได้ไปทำกิจกรรมจริงๆ มีประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ ไม่ได้เป็นการทำไปเพื่อหวังชั่วโมง ทำแบบผ่านๆ ไปให้มันพ้นๆ ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง

4. Activity Transcript

ก่อนหน้าที่จะมีการกำหนดนโยบายเรื่องจิตอาสา จุฬาฯ ก็มีการบันทึกการทำกิจกรรมต่างๆ ของนิสิตในรูปของ Activity Transcript (A.T.) ซึ่งเมื่อมองแล้วอาจจะบอกได้ว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง (นิสิตบางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร และมันมีด้วยหรือ) และประโยชน์ในการนำไปใช้ยังไม่ค่อยมีมากนัก

จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า มาตรการเดิมก็มีแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จ จะนำมาตรการใหม่มาใช้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ หากมีแนวทางในการปฏิบัติเช่นเดิม

————————————————————————————————————————————————-

หากมองดูแล้ว การนำมาตรการชั่วโมงกิจกรรมมาใช้ในการสำเร็จการศึกษานั้น มองดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องที่ดี

แต่หากกมองอีกมุมหนึ่ง เรื่องของการทำกิจกรรมอาสา เป็นเรื่องของ “จิตสำนึก” ของแต่ละบุคคลที่พึงจะปฏิบัติอยู่เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

หากมีการ “ปลูกจิตสำนึก” ในเรื่องของการทำกิจกรรม “จิตอาสา” เป็นพื้นฐานของนิสิตแล้ว ไม่ต้องมีสิ่งใดๆ มาบังคับหรอกครับ ทุกคนก็พร้อมทีจะปฏิบัติอยู่แล้ว

แต่หากใช้การบังคับ จะมั่นใจได้อย่างไรว่ากิจกรรมที่พวกเขาทำนั้น เป็นกิจกรรม “จิตอาสา” ที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง

ไม่เช่นนั้น มันก็อาจเป็นเพียง “ของเล่นชิ้นใหม่” สำหรับผู้บริหารในการสร้างภาพให้ดูดีเท่านั้นเอง…

Tags: ,