msgbartop
เรื่อยๆ เปื่อยๆ กับ kasemsakk
msgbarbottom

25 พ.ค. 15 ทีวีดิจิตอลจ่ายค่าใบอนุญาตปีละเท่าไหร่ มาดูกัน!

ครบรอบ 1 ปีกว่าๆ อย่างเป็นทางการของการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล (ดิจิตอล ตามการใช้ของ กสทช.)

ช่วงนี้ก็มีประเด็นร้อนๆ ของผู้ให้บริการบางเจ้าที่จะไม่จ่ายค่าใบอนุญาตที่ประมูลมาด้วยมูลค่ามหาศาลเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา

แต่เอ๊ะ แล้วเงื่อนไขของการจ่ายค่าใบอนุญาตมันเป็นอย่างไรล่ะ? มาดูกัน

ก่อนอื่นต้องมาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการประมูลนี้ว่าเป็นอย่างไร

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประมูลนั่นคือ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ซึ่งได้กำหนดการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตเอาไว้เป็น 6 งวด ได้แก่

  • งวดที่ 1 ชำระ 50% ของราคาตั้งต้นประมูล และชำระ 10% ของราคาส่วนเกินราคาตั้งต้น
  • งวดที่ 2 ชำระ 30% ของราคาตั้งต้นประมูล และชำระ 10% ของราคาส่วนเกินราคาตั้งต้น
  • งวดที่ 3 ชำระ 10% ของราคาตั้งต้นประมูล และชำระ 20% ของราคาส่วนเกินราคาตั้งต้น
  • งวดที 4 ชำระ 10% ของราคาตั้งต้นประมูล และชำระ 20% ของราคาส่วนเกินราคาตั้งต้น
  • งวดที่ 5 ชำระ 20% ของราคาส่วนเกินราคาตั้งต้น
  • งวดที่ 6 ชำระ 20% ของราคาส่วนเกินราคาตั้งต้น

แต่ละงวดห่างกัน 1 ปี โดยอายุของใบอนุญาตอยู่ที่ 15 ปี (ราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

นอกจากนี้ยังมีค่าเช่าโครงข่าย (MUX) และค่าธรรมเนียมเข้ากองทุน กทปส. (ที่โดน คสช. ยึดไปเรียบร้อย แฮ่)

เอาเป็นว่า มาดูตารางรวมเลยดีกว่าว่าแต่ละช่องต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเท่าไหร่

ใครจ่ายเท่าไหร่ ดูที่นี่

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น

 

ส่วนแต่ละเจ้า จะจ่ายครบตามนี้หรือไม่

มันก็แล้วแต่ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าจะเลือกทางเดินนะครับ!

Tags:

20 ธ.ค. 14 วิเคราะห์ ฟรีทีวีช่องไหนจะได้ทีมบอลไทยไปออกก่อน?

ใจหายใจคว่ำกันเลยทีเดียว สำหรับทีมชาติไทย ภายใต้การคุมทีมของอดีตตำนานทีมชาติ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่ไปคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014 ถึงบ้านของมาเลเซีย ด้วยผล 2 นัด 4-3 (2-0 , 2-3)

แน่นอนว่าตอนนี้ ทั้งซิโก้และขุนพลช้างศึก กลายเป็นจุดสนใจของคนไทยทั้งประเทศไปแล้ว กลบกระแสอื่นๆ ไปแทบมิด

แต่ถึงแม้ศึกในสนามจะจบไปแล้ว แต่ศึกที่กำลังจะเกิดขึ้นแน่นอน นั่นคือ ศึกหน้าจอ ของเหล่าบรรดาสถานีโทรทัศน์ทั้งหลาย ที่จะจับจ้องเอาทีมฟุตบอลชุดนี้ไปเป็นแขกสำคัญของรายการข่าวตัวเอง

ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยเกิดประโยชน์อะไรมากนัก เหมือนเป็นการเกาะกระแสหากินของสื่อไทย (ที่แทบจะเป็นเรื่องปกติ) แต่ก็ถือเป็นเรื่องน่าสนใจว่า

ใคร จะได้ช้างศึกโขลงนี้ ไปออกหน้าจอตัวเองก่อน?

ก่อนอื่น ต้องทราบว่ากำหนดการเดินทางกลับมาเมืองไทยของทีมชาติชุดนี้ (น่าจะ) ถึงเมืองไทยประมาณ 14:25 ด้วยไฟลต์ AK884 มาลงที่สนามบินดอนเมือง แล้วจะแห่ขบวนไปที่สนามศุภชลาศัย ผ่านทางเส้นวิภาวดีฯ-อนุสาวรีย์ชัยฯ-พญาไท-ปทุมวัน-สนามศุภ

ถึงแม้ว่าสถานีโทรทัศน์หลายๆ ช่องจะส่งนักข่าวของตัวเองไปถึงมาเลเซีย เพื่อทำข่าวของทีมชาติ บางช่องติดตามมาตั้งแต่ก่อนการแข่งขัน

แต่ดูๆ ไปแล้ว ในศึกนี้มีผู้เล่นที่น่าสนใจอยู่ 3 รายด้วยกัน

หนึ่งคือ ช่องมากสี ย่านหมอชิต

สองคือ ช่องน้อยสี แถวๆ คลองเตย

สามคือ ช่องหัวเขียว ริมวิภาวดี

ช่สี

  • เป็น Local Broadcaster ของการแข่งขันครั้งนี้
  • ส่งนักข่าวไปทำข่าวการแข่งขัน
  • ได้สิทธิพิเศษ สัมภาษณ์พิเศษนักเตะในสนามหลังจบเกม (สัมภาษณ์เจ-ชนาธิป)

    ทำไงได้ เราเข้าถ้ำเสือมาแล้ว เราต้องสู้ เราเป็นช้าง – ชนาธิป สรงกระสินธุ์

  • มีนักข่าวของตัวเองรอสัมภาษณ์ขณะรับถ้วย
  • มีกำหนดการรับคิวเดินสายของทีมในวันจันทร์นี้ ตั้งแต่เช้ายันเย็น

ช่องน้อยสี

  • ส่งนักข่าวไปทำข่าวการแข่งขัน
  • มีผู้มากบารมีประจำสถานี ใครมาเมืองไทยต้องไปเยี่ยมคารวะ (ยิ่งกว่าเฮียตู่ซะอีก)

    ผู้มากบารมีแห่งช่องน้อยสี / ภาพจากครอบครัวข่าว

ช่องหัวเขียว

  • มีทีมข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์ไปทำข่าวการแข่งขัน (น่าจะทำส่งทีวีด้วย)
  • มีวีรกรรมการฉกแหล่งข่าวอันลือลั่นมาแล้ว (ฉกโค้ชเชบนรถตู้)

นอกจากนี้ยังมีบางช่องที่ส่งนักข่าวไปทำข่าวแล้วรายงานกลับมาสดๆ อย่างช่องแถวๆ บางนาที่ส่งนักข่าวไปถึงริมสนามแล้วโทรกลับมา หรือช่องเคเบิลอย่างช่องกีฬาแถวๆ นวลจันทร์ ที่ได้สิทธิพิเศษบุกเข้าไปในห้องแต่งตัวตอนพักครึ่งมาแล้ว (สงสัยอาศัยบารมีท่านวีวี่)

แต่สามช่องที่ว่าก็คงมีบารมีสูงกว่าช่องอื่นๆ ที่จะฉกเอานักเตะทั้งทีมมาออกทีวีได้

แต่เชื่อเลยว่า การเดินทางกลับของนักฟุตบอลไทยชุดนี้ ต้องคึกคักตั้งแต่สนามบินดอนเมืองถึงสนามศุภชลาศัยแน่นอน

ป.ล. ว่าไป พนักงานของแอร์เอเชียอาจต้องทำงานหนักบนเครื่อง AK884 แน่ๆ หึๆ

Tags:

12 พ.ย. 11 ถ้า GreenWave ไม่ใช่ 106.5 แล้ว?

ออกตัวไว้ก่อนว่า ผมก็เป็นคนที่ฟัง GreenWave เหมือนกัน (ถึงแม้ว่าอาจไม่ได้ฟังตลอดเวลา)

เริ่มมาจากการที่ดู Club Friday ทาง Green Channel นั่นแหละ… (บ้านอยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้เปิดวิทยุฟัง)

แต่เห็นกระแสเรื่องของ GreenWave ในคราวนี้ ดูแล้วมันก็เกินไปหน่อยนะครับ


gwหรือมันจะเป็นเพียงอดีต? 

 

จากกรณีที่มีข่าวว่าทาง กสทช. จะไม่ต่อสัญญาคลื่นวิทยุ 1 ปณ. ที่ทำไว้กับเอกชน ซึ่งในกรุงเทพฯ มีคลื่นวิทยุ FM อยู่ 2 คลื่นคือ 98.5 MHz และ 106.5 MHz ซึ่งได้ให้เอกชนเช่าเวลาไปจัดรายการในชื่อ Good FM และ GreenWave ตามลำดับ

ดูเหมือนว่ากระแสตอบกลับจากผู้ฟังรายการของคลื่นทั้งสองจะดูแตกต่างกันมาก…

คลื่นแรกจะดูเงียบๆ อาจเป็นเพราะฐานคนฟังยังไม่มาก เพราะเป็นคลื่นที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน

แต่กรณีของ GreenWave นี้ดูแล้วกระแสค่อนข้างรุนแรงเลยทีเดียว

โดยเฉพาะ DJ ในคลื่น (รวมทั้งบรรดาเซเลปในเครือแกรมมี่) ที่ใช้ Twitter ในการบรรยายความรู้สึกของตนเองออกมาในหลายๆ ทวีต เช่น

ประชุมแล้ว สรุปว่า เราบ๊ายบายกรีนเวฟ 31 ธค.นี้จ้ะ กสทช.ขอยึดไปทำคลื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แปลว่าที่ผ่าน คลื่นเราทำอะไรหรือ @DJPeeAoy

คลื่นกรีนเวฟกำลังจะหลุดผังต้นปีนี้ เพราะกสทชจะนำไปทำคลื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม (ซึ่งกรีนเวฟก็ทำมาตลอด20ปีครับ) #welovegreenwave @djeaky

มีคนบอกว่าจะเอาคลื่นกรีนเวฟไปไว้รายงานข่าวสารเรื่องนำ้ท่วมน่าเสียใจนะคะเพราะกรีนเวฟทำประโยชน์ให้สังคมได้มากกว่านั้นเยอะ @DJPChod

ถามมาเรื่องกรีนเวฟถูกยึดคลื่นคืนเป็นไง ขอถามกลับว่านั่นสิ!!!กสทชจะมาจัดสรรให้สื่อเท่าเทียมกันไม่ใช่รึแล้วทำไมไม่ทำอย่างเท่าเทียม แปลกม @unpuwanart

ถ้า"กรีนเวฟ"หายไป…คำว่า"ทำดีได้ดี"อาจพิสูจน์ได้ว่า"ไม่จริง"เสมอไปสินะ…T___T" @chocoopal

หรือการออกมาพูดของตัวผู้บริหารที่จัดรายการเองอย่าง "สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” (@DJPChod) ในรายการ Club Friday ก่อให้เกิดกระแสของแฟนคลับที่ไม่ต้องการให้คลื่นนี้หายไปจากหน้าปัดวิทยุ (จนถึงขนาดมี Fanpage ต่างๆ ออกมาตามกระแส)

แต่ก่อนอื่น มาดูก่อนไหมว่า รายการวิทยุอื่นของค่ายนี้ เขาออกอากาศทางคลื่นไหนบ้าง


ปัจจุบัน A-Time Media มีรายการใน 4 คลื่นด้วยกันคือ

– Chill ทางคลื่น 89 MHz (สถานีวิทยุศูนย์การทหารม้า ยานเกราะ เอฟ.เอ็ม.89 กองทัพบก)
– Hot ทางคลื่น 91.5 MHz (สถานีวิทยุกระจายเสียง ยานเกราะ เอฟ.เอ็ม.91.5 กองทัพบก)
– EFM ทางคลื่น 94 MHz (สถานีวิทยุกระจายเสียง ททบ.เอฟ.เอ็ม กองทัพบก)
– GreenWave ทางคลื่น 106.5 MHz (สถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. กสทช.)

สังเกตได้เลยนะครับว่าคลื่นวิทยุที่ใช้นั้น เกือบทั้งหมดเป็นคลื่นในความดูแลของกองทัพบกทั้งสิ้น

นอกจากนี้ GreenWave ยังออกอากาศอีก 2 ทางก็คือ
– ทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ greenwave.fm (ซึ่งจะลิงก์ไปไหนก็สุดแท้แต่)
– ทางดาวเทียมของ True Visions


หากจะถามว่า ถ้า GreenWave ไม่ได้ออกอากาศที่ 106.5 แล้ว รายการจะถูกยุบหายไปเลยหรือไม่

ก็คงต้องตอบว่า ไม่หรอก

เพราะสามารถออกอากาศได้ตามช่องทางทั้งออนไลน์ , ดาวเทียม รวมทั้งใช้ Green Channel ให้เป็นประโยชน์ได้อีกทาง

อีกทั้งเมื่อดูจากการเคลื่อนไหวของทั้งดีเจ และแฟนคลับต่างๆ แล้ว

นี่คงเป็นแผนการสร้างดราม่าให้กับแฟนๆ ของคลื่น โดยการใช้สื่อช่องทางใหม่ๆ เหมือนเป็นการโปรโมตคลื่นตนเองไปในตัว (แผนแยบยลมาก!)

และผมเชื่อนะครับ ในเมื่อคลื่นวิทยุที่ใช้ออกอากาศ 3 ใน 4 เป็นคลื่นของกองทัพบกทั้งสิ้น

สุดท้ายแล้ว ผู้บริหารก็คงมีกำลังภายใน หาช่องทางให้ GreenWave ออกอากาศทางวิทยุกองทัพบกจนได้ล่ะครับ…

Tags: ,

30 พ.ย. 10 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กับการบิดเบือนข้อเท็จจริง

แน่นอนว่าหลายคนคงมีหลายความรู้สึก หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

หลายคนดีใจ
หลายคนเฉยๆ
หลายคนก็ไม่พอใจ

ผมว่ากรณีหลังเป็นสิ่งที่น่ากลัวนะครับ

และจะยิ่งน่ากลัวกว่า ถ้ามีการนำความไม่พอใจ ไปขยายผลด้วยการตัดตอนคำวินิจฉัยไปเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยเก่าๆ โดยเฉพาะการยุบพรรคการเมืองใหญ่ๆ ในอดีต มาจุดชนวนความขัดแย้งอีกครั้ง

และผมเริ่มเห็นเค้าลางนั้นแล้วครับ!

—————————————–

วันนี้ ผมเห็นหัวข่าวนี้มาจากทวิตเตอร์ของผม

“แฉอายุความคดียุบพรรคเก่าๆ “เกิน 15 วัน ทุกคดี””

เข้าไปอ่านแล้วก็พบว่า เป็นเว็บไซต์ที่มีความคิดเห็นสนับสนุนแนวทางของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยมีการนำตารางจากเว็บไซต์มติชน มานำเสนอ

หัวข้อข่าว (คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่)

ตารางประกอบข่าว จากมติชนออนไลน์ (คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่)

และพยายามชี้ให้เห็นว่า กรณียุบพรรคในอดีตนั้น มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายหลัง 15 วันทั้งหมด แต่เหตุใดศาลจึงไม่นำเรื่องนี้มาพูดถึง

——————————————

เมื่อลองไปดูที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (รวมถึงตุลาการรัฐธรรมนูญ) ก็จะพบข้อเท็จจริงดังนี้

– ในคำวินิจฉัยที่ผ่านมา พบว่าพรรคการเมืองที่ถูกยุบ กระทำความผิดตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 “มาตรา 94 และ 95 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550”

สังเกตการเน้นนะครับ

เมื่อลองไปดูในมาตรา 94 และ 95 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๙๔ เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง

(๑) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกระทำการตามที่รัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการดังกล่าว

(๒) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(๓) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

(๔) กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

มาตรา ๙๕ เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและได้ตรวจ สอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๙๔ ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งต่ออัยการสูงสุด พร้อมด้วยหลักฐาน เมื่ออัยการสูงสุดได้รับแจ้งให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสาม สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควร ก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงาน ขึ้นคณะหนึ่งโดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้อง ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่แต่งตั้งคณะทำงาน ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นคำร้องเอง

…”

สังเกตว่า “ไม่มีการระบุกำหนดเวลาที่นายทะเบียนพรรคการเมือง” ส่งเรื่องต่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไป (มีแต่เพียงการกำหนดเวลาให้อัยการสูงสุดดำเนินการให้เสร็จ

– ส่วนกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ เป็นความผิดตามมาตรา 82 ประกอบมาตรา 42 เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามมาตรา 93 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550

มาตรา 82 บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๘๒ พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้ และส่วนที่ ๕ การใช้จ่ายของพรรคการเมือง และจะต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทิน ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป และให้นำความในมาตรา ๔๒ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

(มาตรา ๔๒ วรรคสอง) เมื่อครบระยะเวลาการรายงานตามวรรคหนึ่งแล้ว หากพรรคการเมืองใดยังไม่ได้รายงานให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรค การเมืองรายงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาแล้วยังมิได้รายงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้มี การยุบพรรคการเมืองนั้น”

ส่วนมาตรา 93 บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๙๓ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมืองแต่พรรคการเมืองนั้นยังมีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ หรือในกรณีที่พรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๘๒ ให้ยุบพรรคการเมืองนั้น

เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น

…”

สังเกตว่า “มีการระบุระยะเวลาที่นายทะเบียนพรรคการเมือง” จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ คือต้องส่งใน 15 วัน หลังจากความปรากฏ

และนี่เอง ที่เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยออกมาว่า “พ้นระยะเวลาในการยื่นคำร้อง” และทำให้พรรคประชาธิปัตย์รอดในคดียุบพรรคครั้งนี้

——————————————

อย่างที่บอกไว้แล้วล่ะครับ สิ่งที่น่ากลัวก็คือ “การนำข้อมูลหลายๆ อย่าง มาอย่างละเล็กละน้อย ประติดประต่อเป็นข้อมูลเท็จ” ทำไปเผยแพร่และ “ปั่นหัว” ให้เกิดความวุ่นวายอีกครั้ง

หวังว่า สื่อมวลชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกียวข้อง จะต้องเผยแพร่แง่มุมทางกฎหมาย รวมถึงอธิบายคำวินิจฉัยนี้ให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ

ไม่เช่นนั้น วิกฤตการเมืองครั้งใหม่ คงเกิดอีกไม่ไกลแน่นอนครับ!

(เผยแพร่ทาง http://www.oknation.net/blog/kasemsakk/2010/11/30/entry-3)

Tags: , ,