msgbartop
เรื่อยๆ เปื่อยๆ กับ kasemsakk
msgbarbottom

30 พ.ย. 10 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กับการบิดเบือนข้อเท็จจริง

แน่นอนว่าหลายคนคงมีหลายความรู้สึก หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

หลายคนดีใจ
หลายคนเฉยๆ
หลายคนก็ไม่พอใจ

ผมว่ากรณีหลังเป็นสิ่งที่น่ากลัวนะครับ

และจะยิ่งน่ากลัวกว่า ถ้ามีการนำความไม่พอใจ ไปขยายผลด้วยการตัดตอนคำวินิจฉัยไปเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยเก่าๆ โดยเฉพาะการยุบพรรคการเมืองใหญ่ๆ ในอดีต มาจุดชนวนความขัดแย้งอีกครั้ง

และผมเริ่มเห็นเค้าลางนั้นแล้วครับ!

—————————————–

วันนี้ ผมเห็นหัวข่าวนี้มาจากทวิตเตอร์ของผม

“แฉอายุความคดียุบพรรคเก่าๆ “เกิน 15 วัน ทุกคดี””

เข้าไปอ่านแล้วก็พบว่า เป็นเว็บไซต์ที่มีความคิดเห็นสนับสนุนแนวทางของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยมีการนำตารางจากเว็บไซต์มติชน มานำเสนอ

หัวข้อข่าว (คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่)

ตารางประกอบข่าว จากมติชนออนไลน์ (คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่)

และพยายามชี้ให้เห็นว่า กรณียุบพรรคในอดีตนั้น มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายหลัง 15 วันทั้งหมด แต่เหตุใดศาลจึงไม่นำเรื่องนี้มาพูดถึง

——————————————

เมื่อลองไปดูที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (รวมถึงตุลาการรัฐธรรมนูญ) ก็จะพบข้อเท็จจริงดังนี้

– ในคำวินิจฉัยที่ผ่านมา พบว่าพรรคการเมืองที่ถูกยุบ กระทำความผิดตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 “มาตรา 94 และ 95 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550”

สังเกตการเน้นนะครับ

เมื่อลองไปดูในมาตรา 94 และ 95 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๙๔ เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง

(๑) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกระทำการตามที่รัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการดังกล่าว

(๒) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(๓) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

(๔) กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

มาตรา ๙๕ เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและได้ตรวจ สอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๙๔ ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งต่ออัยการสูงสุด พร้อมด้วยหลักฐาน เมื่ออัยการสูงสุดได้รับแจ้งให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสาม สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควร ก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงาน ขึ้นคณะหนึ่งโดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้อง ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่แต่งตั้งคณะทำงาน ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นคำร้องเอง

…”

สังเกตว่า “ไม่มีการระบุกำหนดเวลาที่นายทะเบียนพรรคการเมือง” ส่งเรื่องต่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไป (มีแต่เพียงการกำหนดเวลาให้อัยการสูงสุดดำเนินการให้เสร็จ

– ส่วนกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ เป็นความผิดตามมาตรา 82 ประกอบมาตรา 42 เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามมาตรา 93 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550

มาตรา 82 บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๘๒ พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้ และส่วนที่ ๕ การใช้จ่ายของพรรคการเมือง และจะต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทิน ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป และให้นำความในมาตรา ๔๒ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

(มาตรา ๔๒ วรรคสอง) เมื่อครบระยะเวลาการรายงานตามวรรคหนึ่งแล้ว หากพรรคการเมืองใดยังไม่ได้รายงานให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรค การเมืองรายงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาแล้วยังมิได้รายงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้มี การยุบพรรคการเมืองนั้น”

ส่วนมาตรา 93 บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๙๓ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมืองแต่พรรคการเมืองนั้นยังมีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ หรือในกรณีที่พรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๘๒ ให้ยุบพรรคการเมืองนั้น

เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น

…”

สังเกตว่า “มีการระบุระยะเวลาที่นายทะเบียนพรรคการเมือง” จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ คือต้องส่งใน 15 วัน หลังจากความปรากฏ

และนี่เอง ที่เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยออกมาว่า “พ้นระยะเวลาในการยื่นคำร้อง” และทำให้พรรคประชาธิปัตย์รอดในคดียุบพรรคครั้งนี้

——————————————

อย่างที่บอกไว้แล้วล่ะครับ สิ่งที่น่ากลัวก็คือ “การนำข้อมูลหลายๆ อย่าง มาอย่างละเล็กละน้อย ประติดประต่อเป็นข้อมูลเท็จ” ทำไปเผยแพร่และ “ปั่นหัว” ให้เกิดความวุ่นวายอีกครั้ง

หวังว่า สื่อมวลชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกียวข้อง จะต้องเผยแพร่แง่มุมทางกฎหมาย รวมถึงอธิบายคำวินิจฉัยนี้ให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ

ไม่เช่นนั้น วิกฤตการเมืองครั้งใหม่ คงเกิดอีกไม่ไกลแน่นอนครับ!

(เผยแพร่ทาง http://www.oknation.net/blog/kasemsakk/2010/11/30/entry-3)

Tags: , ,

Reader's Comments

  1. |

    เฮ้ย นี่มันสาระนี่

  2. |

    ขอบคุณครับได้ความรู้มากเลยครับ

Leave a Comment