msgbartop
เรื่อยๆ เปื่อยๆ กับ kasemsakk
msgbarbottom

21 เม.ย. 18 Review Krungthai Travel Card : บัตรสะดวกใช้ในการเดินทางต่างประเทศ

เวอร์ชั่นสั้น สำหรับคนขี้เกียจอ่านอะไรยาวๆ

  • Krungthai Travel Card บัตรสำหรับแลกเปลี่ยนเงิน 7 สกุลเงินหลัก สามารถใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่รับบัตร Visa / กดเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม และซื้อของออนไลน์ได้
  • อัตราแลกเปลี่ยนเทียบเท่าหรือดีกว่าร้านแลกเงินชื่อดัง สามารถแลกผ่านแอพได้ตลอดเวลา แลกได้แม้กระทั่งเศษทศนิยมสองหลัก
  • ตรวจสอบการใช้จ่าย เปิดปิดบัตร ผ่านแอพได้ตลอดเวลา
  • ลดปัญหาเหลือเศษเหรียญแล้วแลกคืนไม่ได้ หรือถูกกดอัตราแลกเปลี่ยน ลดปัญหาการถือเงินสด ลดปัญหาแลกเงินมาไม่พอใช้
  • ฟรีค่าออกบัตรและค่าธรรมเนียมต่างๆ ถึง 15 พฤษภาคม 2561


ในปัจจุบันหากใครเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และต้องการใช้เงินสดสกุลเงินต่างประเทศเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ก็มักจะมีทางเลือกเช่นการแลกธนบัตรสกุลนั้นๆ หรือใช้บัตรเครดิตในการชำระเงิน ซึ่งก็มักจะมีปัญหาต่างๆ เช่น

  • การถือเงินสดจำนวนมากๆ ไว้ใช้ในต่างประเทศ มีความเสี่ยงในการสูญหาย ถูกขโมย หลงลืม
  • การหาแลกเงินสดในประเทศไทย หากแลกตามธนาคารก็มักมีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูง ส่วนการแลกเงินตามร้านต่างๆ แม้อัตราจะถูก แต่ก็มีความเสี่ยงได้ธนบัตรปลอม รวมถึงอาจไม่มีเงินตามที่ต้องการในบางช่วงเวลาที่ความต้องการสูง แถมต้องเสียเวลาเดินทางไปแลกเงินอีก (แม้ว่าในสนามบินบางแห่งจะมีบูธรับแลกเงินก็ตาม)
  • หากได้เงินเหรียญหรือเงินธนบัตรย่อยๆ ก็ไม่สามารถแลกคืนได้ หรือแลกคืนได้แต่ถูกกดอัตราแลกเปลี่ยน
  • บัตรเครดิตก็มักมีอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่าปกติ รวมถึงมีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศที่ส่วนใหญ่คิดในอัตราถึง 2.5% รวมถึงกรณีรูดเพลิน เกินยั้งใจ จนต้องไปนั่งกลุ้มใจตอนใบเรียกเก็บส่งมา

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารกรุงไทยก็ได้เปิดตัว Krungthai Travel Card ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสำหรับนักเดินทาง รวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่กำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ โดยบัตรดังกล่าวมีจุดเด่นเช่น

  • สามารถแลกเงินเก็บไว้ในอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดในตลาด ถึง 7 สกุลเงินได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ, ปอนด์สเตอร์ลิง, ยูโร, ดอลลาร์ฮ่องกง, เยน, ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์สิงคโปร์
  • สามารถแลกเปลี่ยนเงิน ขายคืน ตรวจสอบยอด เปิด และปิดการใช้งานบัตรได้ด้วยตัวเองตลอดเวลา ผ่านแอปพลิเคชั่น Krungthai netbank
  • ใช้ซื้อสินค้า / บริการ ณ ร้านค้าภายใต้มาตรฐาน Visa ทั่วโลก ผ่านเครื่องรูดบัตร และ Visa payWave
  • ใช้ถอนเงินสดได้ 7 สกุลเงินที่เครื่องเอทีเอ็มทั่วโลกตามสกุลเงินที่แลกไว้
  • ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน

card

วิธีการสมัคร

how-to-apply-travel-final-crop

ด้านวิธีการสมัครนั้น จะต้องมีบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวันกับกรุงไทยเสียก่อน และสามารถไปสมัครบัตรได้ที่ทุกสาขาของธนาคาร ซึ่งผมไม่เคยมีบัญชีกับกรุงไทยมาก่อน ก็เลยต้องเปิดบัญชีก่อนค่อยสมัครบัตร และทางธนาคารจะให้เรากำหนดรหัสบัตร 6 หลักเอง ซึ่งรหัสสามารถเปลี่ยนได้ที่ตู้เอทีเอ็มของกรุงไทยในภายหลังได้ โดยบัตรมีอายุ 2 ปี

bin

ตัวบัตรจากการตรวจสอบ BIN พบว่าเป็น Visa Prepaid มีการปั๊มหมายเลขนูนลักษณะเหมือนบัตรเครดิต ส่วนชื่อที่ปั๊มบนบัตรเขียนว่า KRUNGTHAI TRAVEL ตัวบัตรยังมีเทคโนโลยี Visa PayWave เพื่อชำระผ่านเครื่องที่รองรับ NFC รวมถึงยังรองรับเทคโนโลยี Chip & PIN อีกด้วย

การใช้งานผ่านแอพพลิเคชัน netbank

จากรายละเอียดด้านบน การแลกเปลี่ยนเงิน ขายคืน ตรวจสอบยอด เปิดปิดการใช้บัตร สามารถดำเนินการผ่านแอพ KTB netbank (หรือชื่อใหม่ตามการรีแบรนด์อย่าง Krungthai netbank) โดยภายในแอพจะมีเมนู Travel card แยกออกมาต่างหาก

Screenshot_20180419-030751

ซึ่งเมื่อกดเข้าไปจะพบหน้าจอแสดงสกุลเงินทั้ง 7 สกุลที่สามารถแลกได้ และมียอดคงเหลือของแต่ละสกุล เมื่อกดเข้าไปก็จะพบรายละเอียดต่างๆ ทั้งยอดเงินที่เหลือ วันทำรายการ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนั้น รวมถึงการดูรายการเคลื่อนไหวบัญชีย้อนหลังได้ 3 เดือนอีกด้วย 

Screenshot_20180419-030944

นอกจากนี้ยังสามารถเปิด-ปิดการใช้งานบัตรได้ตลอดเวลา ซึ่งสามารถเปิด-ปิดได้ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง

Screenshot_20180419-031701

สำหรับการซื้อขายนั้น ก็สามารถทำผ่านแอพได้ทันที โดยการกดปุ่มที่อยู่ด้านล่าง โดยสามารถซื้อได้ขั้นต่ำ 1 หน่วยของสกุลเงินนั้นๆ (โดยสามารถซื้อได้ถึงหน่วยทศนิยม 2 หลัก เช่น 1.01 หรือ 9.99) โดยเลือกบัญชีกรุงไทยต้นทาง และใส่จำนวนเงินที่ต้องการ โดยสามารถแจ้งผลการแลกเงินผ่านอีเมลและใส่บันทึกช่วยจำได้

Screenshot_20180419-031328

ซึ่งเมื่อแลกเงิน (หรือในแอพคือการโอนเงิน) ก็จะมีการเก็บรูปภาพไว้เป็นหลักฐานในเครื่อง และสามารถใช้เงินได้ทันที ส่วนการขายคืนก็มีลักษณะเช่นเดียวกันScreenshot_20180419-031402

อย่างไรก็ตาม เงินที่แลกไว้จะไม่ได้รับดอกเบี้ยแต่อย่างใด เนื่องจากเก็บไว้ในรูปแบบบัญชีกระแสรายวัน

การใช้งานบัตร

how-to-use-travel-final-crop

Travel Card สามารถใช้งานได้ใน 3 รูปแบบ คือ

  • ใช้ถอนเงินที่ตู้ ATM ในต่างประเทศได้ภายใต้ 7 สกุลเงินที่รองรับและแลกเก็บไว้ โดยเลือกกดเงินจากบัญชีกระแสรายวัน
  • ใช้รูดหรือใช้จ่ายภายใต้ 7 สกุลเงินที่รองรับและแลกเก็บไว้ ณ ร้านค้าภายใต้มาตรฐาน Visa ทั่วโลก
  • ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้ 7 สกุลเงินที่รองรับและแลกเก็บไว้ ณ ร้านค้าภายใต้มาตรฐาน Visa ทั่วโลก

โดยมีวงเงินกดเงินสดไม่เกิน 50,000 บาทต่อวัน และวงเงินซื้อสินค้าผ่านเครื่องรูดบัตรหรือออนไลน์ไม่เกิน 500,000 บาทต่อวัน และสามารถแลกเงินเก็บไว้ได้สูงสุด 1,000,000 บาท โดยวงเงินทั้งหมดคิดจากทุกสกุลเงินรวมกันเทียบในอัตราเงินบาท

อัตราแลกเปลี่ยน

มาถึงจุดสำคัญ นั่นคืออัตราแลกเปลี่ยนว่าจะดีกว่าร้านแลกเงินทั่วไป หรือธนาคารจริงหรือเปล่า rate

ผมขอเทียบกับร้านแลกเงินชื่อดังย่านประตูน้ำ ที่ขึ้นชื่อว่ามีอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุด แถมขยายสาขาไปหลายแห่ง (รวมถึงใต้สนามบินสุวรรณภูมิก็มี) อย่าง Superrich Thailand ก็พบว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ Travel Card ถือว่าสูสี และอาจดีกว่าในหลายๆ สกุล อีกทั้งยังไม่มีถูกลดอัตรากรณีเป็นธนบัตรย่อยด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าส่วนต่างอัตราซื้อขายของ Travel Card จะอยู่ในกรอบแคบๆ สูงสุดไม่เกิน 4 สตางค์ ขณะที่ร้านแลกเงินอาจมีส่วนต่างสูงถึง 25 สตางค์

การเก็งกำไร(!?)

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจมองว่าสามารถใช้ช่องทางนี้ในซื้อขายเพื่อการเก็งกำไรค่าเงินที่สะดวก ไม่ต้องเก็บเงินสดจริงๆ และสามารถแลกคืนได้ตลอด อย่างไรก็ตามด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไม่บ่อยครั้งนัก ก็อาจไม่เหมาะกับนักเก็งกำไรเป็นชีวิตมากนัก รวมถึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์อีกด้วย

terms

ค่าธรรมเนียม

  • ค่าธรรมเนียมออกบัตร 200 บาท / ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี
  • ค่าธรรมเนียมถอนเงินที่เอทีเอ็มต่างประเทศ 100 บาทหรือเทียบเท่า (ไม่รวมค่าธรรมเนียมของธนาคารต่างประเทศ)
  • ค่าธรรมเนียมสอบถามยอดที่เอทีเอ็มต่างประเทศ 15 บาทหรือเทียบเท่า (ไม่รวมค่าธรรมเนียมของธนาคารต่างประเทศ)
  • ค่าธรรมเนียมการขายเงินคืนผ่านแอพ ฟรี 5 ครั้งต่อเดือน ครั้งที่ 6 ขึ้นไป ครั้งละ 100 บาท

อย่างไรก็ตาม ได้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมออกบัตร / การถอนเงิน / สอบถามยอด / ขายเงินคืน จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2561

สรุป

จุดเด่น

  • อัตราแลกเปลี่ยนที่เทียบเท่าหรือดีกว่าร้านแลกเงินชื่อดัง
  • สามารถแลกเงินในอัตราที่สุดเก็บไว้ได้ และแลกเพิ่มได้ตลอดเวลา
  • ใช้จ่ายได้ทั้งในรูปแบบบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม และใช้จ่ายออนไลน์ใน 7 สกุลหลัก
  • ลดความเสี่ยงในการถือเงินสดระหว่างเดินทาง และสามารถเปิด-ปิดบัตรผ่านแอพได้
  • สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ โดยหากถอนหรือใช้จ่ายเกินกว่าจำนวนเงินที่แลกไว้ รายการจะถูกปฏิเสธ
  • ใช้จ่ายด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่แลกไว้ ไม่มีชาร์จเพิ่ม
  • มาพร้อมเทคโนโลยี Visa payWave และ Chip & PIN ลดปัญหาไม่สามารถใช้จ่ายได้ในบางประเทศที่บังคับใช้ระบบ Chip & PIN
  • ตรวจสอบรายการใช้จ่ายย้อนหลังได้สูงสุด 3 เดือน
  • สามารถซื้อขายได้ตั้งแต่ 1 หน่วย จนถึงเศษทศนิยม 2 หลัก

ข้อสังเกต

  • ใช้จ่ายได้เพียง 7 สกุลหลักตามที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายในประเทศที่ไม่ได้ใช้ 7 สกุลเงินในบัตรได้
  • ไม่สามารถใช้กดเงินสด สอบถามยอด หรือรูดซื้อสินค้าในประเทศไทย (แต่ไม่แน่ใจว่าหากเครื่องรูดบัตรรองรับการรูดหลายสกุลเงิน จะสามารถใช้ได้หรือไม่) แต่สามารถใช้จ่ายออนไลน์ใน 7 สกุลเงินได้
  • มีค่าธรรมเนียมในการออกบัตร การกดเงินสดและสอบถามยอดเช่นเดียวกับบัตรเดบิต รวมถึงมีค่าธรรมเนียมในการขายคืนในครั้งที่ 6 เป็นต้นไป (ฟรีค่าธรรมเนียมถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2561)
  • วงเงินการกดเงินสดต่อวันเพียง 50,000 บาท และวงเงินใช้จ่ายผ่านเครื่องรูดบัตรต่อวัน 500,000 บาท แม้ว่าจะมีเงินอยู่ในบัตรมากกว่านั้นก็ตาม
  • เงินที่แลกไว้ไม่ได้รับดอกเบี้ย
  • บัตรมีอายุเพียง 2 ปี
  • การใช้งานแอพ KTB netbank ยังไม่ไหลลื่นนักเมื่อเทียบกับแอพธนาคารอื่นๆ

Krungthai Travel Card ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ออกเป็นธนาคารแรกของไทย และยอมรับว่าไม่คาดคิดว่ากรุงไทยจะออกผลิตภัณฑ์นี้มาเป็นธนาคารแรก น่าจะเป็นธนาคารสีเขียว สีม่วง หรือสีน้ำเงินก่อนมากกว่า (แต่หากจะว่าไป กรุงไทยก็สู้ในสมรภูมิร้านรับแลกเปลี่ยนเงินใต้สนามบินเหมือนกัน ไม่เชื่อลองไปสำรวจอัตราแลกเปลี่ยนที่สาขาแอร์พอร์ตลิงก์สุวรรณภูมิได้) ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจทดแทนการถือเงินสดไปใช้จ่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่รับบัตรเครดิตโดยทั่วไป ลดปัญหาเศษเหรียญที่ไม่สามารถแลกคืนได้หรือธนบัตรย่อยที่ถูกกดราคา อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในขณะนี้ที่มีโปรโมชั่นออกบัตรฟรีด้วย

แต่หากต้องการนำบัตรไปใช้เพื่อกดเงินสดที่ประเทศปลายทาง ก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีมากนัก เนื่องจากยังมีค่าธรรมเนียมในการกดเงินสดเช่นเดียวกับการนำบัตรเดบิตในประเทศไปกดเงินที่ต่างประเทศอยู่

ใครมีแผนเดินทางต่างประเทศ อย่างน้อยๆ ไปรับบัตรมาก่อน ก่อนตัดสินใจใช้ในการท่องเที่ยวต่างประเทศก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด

Tags: , ,

03 ต.ค. 17 First Impression อันสุดแสนประทับใจกับธนาคารทิสโก้

สรุปสำหรับคนที่ขี้เกียจอ่านคนบ่นอะไรก็ไม่รู้…

  • ไปธ.ทิสโก้ สาขาพารากอน เพื่อสมัคร Mobile Banking และปรับสมุด หลังทิสโก้ควบรวมกิจการของสแตนดาร์ดฯ เรียบร้อย
  • ลูกค้ามาก / ระบบเรียกคิวมั่ว / รอคิวนานเป็นชั่วโมง
  • มีคนลัดคิวไปถามพนักงาน แล้วพนักงานดำเนินการให้ทันที
  • เป็นปัญหาเรื่องพนักงานไม่สนใจ กับลูกค้าไม่ยอมถาม

หลังจาก ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ขายกิจการรายย่อยให้กับ ธ.ทิสโก้ ลูกค้าอย่างผมก็ต้องย้ายบัญชีตามไปกับเขาด้วย จะไปฝืนก็ไม่ได้หนะนะ

ไอ้เราก็ทำเรื่องอะไรเรียบร้อยตั้งแต่เดือนกันยา ได้สมุดบัญชี 2 เล่มของทิสโก้พร้อมบัตรเดบิต แต่ก็ยังต้องรอวันที่ 2 ตุลาถึงจะใช้งานอะไรได้

พอมาวันที่ 2 ตุลา ก็ไปที่ทิสโก้สาขาห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านสยาม (บอกชื่อไปเลยไหม!) ไปถึงประมาณทุ่มนิดๆ ตามคาด คนล้นออกมานอกสาขา (เพราะเป็นธนาคารเล็กๆ ที่นั่งไม่มากเท่าไหร่) แต่คิดว่าแค่มาปรับสมุดกับสมัคร Mobile Banking ไม่น่านาน เสร็จแล้วค่อยไปกินข้าว

แต่ระบบคิวชวนงงมาก เพราะทุกคิว ทุกธุรกรรม เรียกไปที่เคาท์เตอร์ 1-2 หมด อาจเข้าใจได้ว่าแบงก์ใกล้ปิดแล้วเลยเปิดแค่นั้น แต่โอ้โห พนักงานประมาณ 5-6 คน อยู่เคาท์เตอร์ 2 หน้าเคาท์เตอร์คอยเรียกคิวกับวิ่งไปมาอีก 2 ยืนกดมือถือตรงโต๊ะฝั่งเปิดบัญชีอีก 2 คน ทำงานก็แบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ มาก ความกระตือรือล้นแทบเป็นศูนย์ ลูกค้าก็นั่งรอไป

ทุ่มครึ่งก็แล้ว ทุ่มสี่สิบห้าก็แล้ว สองทุ่มก็แล้ว คิวไม่มีวี่แววจะใกล้ เลยย้ายไปนั่งตรงโต๊ะฝั่งเปิดบัญชี พอสักสองทุ่มสิบกว่าๆ เหลือบไปเห็นที่โต๊ะมีคนถามว่าเปิด Mobile Banking ยังไง แล้วพนักงานก็ทำให้เลย เหลือบไปดูบัตรคิว อ้าว คิวหลังกูอีก 2-3 คิวเลยหนิ

ปรี๊ดแตกสิ รอมาเป็นชั่วโมง ข้าวก็ไม่ได้กิน แล้วคิวที่กดมาจะกดทำไม?

เลยถามพนักงานไปว่า “สมัคร Mobile Banking ไม่ต้องรอบัตรคิวเหรอ” (น้ำเสียงหงุดหงิด ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยหงุดหงิดใส่ชาวบ้านแบบต่อหน้านะ) พนักงานก็ตอบมาประมาณว่าคิวมันแยกออกจากกัน (อ้าว!?) แต่ก็สมัครได้เลย (ยังไง?) พนักงานก็ขอบัตรประชาชน (ไปสองคน แต่ขอคนเดียว เอาสิ) พร้อมสมุดบัญชีอีก 4 เล่ม (โดยไม่ถามอะไรสักคำ) แล้วก็เชิญไปที่เคาท์เตอร์ขวาสุดเพื่อนั่งรอต่อไป

สักพัก ก็เอาใบสมัครมาให้เซ็น แล้วก็ให้กรอกเบอร์มือถือ เลขบัตรประชาชน และเลขบัญชี…

แต่ สมุดบัญชีก็อยู่กับพนักงาน แถมเลขบัญชีทิสโก้ดันไม่เหมือนธนาคารหลักๆ ใครจะไปจำได้ล่ะ? พนักงานเลขเอาสมุดบัญชีมาให้กรอก แล้วก็บอกว่ารอรหัส OTP ที่จะส่งมาให้ แล้วก็หายไป…

สักพักพอประมาณ ค่อยมาถามว่าได้ OTP ยัง ให้เอาไปกรอกในแอพเพื่อลงทะเบียนเลย แหม่ ไม่บอกตอนรหัสหมดอายุเลยล่ะ? พอตอนสมัครก็ให้ใช้ User มีเลข Password มีอักขระพิเศษ แต่ในระบบไม่เห็นบอกเลย ทำไมต้องเชื่อพนักงานล่ะ? แล้วดันใช้ได้ด้วยนะ…

แล้วพอจะสมัครคนที่สองก็ต้องให้ถามว่าสมัครยังไง ค่อยขอบัตรประชาชนไปทำให้ (นี่ไม่คิดจะถามเลยสินะ) พอตอนรอ OTP รอซะนาน นานขนาดพนักงานมาถามรอบที่ 3 ถึงส่งมาให้

แล้วพนักงงานท่านก็เอาสมุดบัญชีไปดองไว้ที่ไหนก็ไม่รู้ กว่าจะได้สมุดคืนจนออกจากธนาคาร ปาไปเกือบสองทุ่มครึ่ง…ชั่วโมงกว่าๆ ไม่ได้เหี้ยอะไรเลย ประทับใจสุดๆ พอดีกับ SCB ขยายวงเงินบัญชีออมทรัพย์อีซี่เป็น 2 แสนพอดี จะรอช้าอยู่ใย ย้ายสิฮะ!


บ่นแบบไม่รู้เรื่องมาตั้งนาน มาสรุปข้อสังเกตดีกว่า

  • ทิสโก้มีเวลาเตรียมการย้ายลูกค้ามาหลายเดือน (กระบวนการตั้งแต่ซื้อกิจการจนโอนถ่ายเสร็จสิ้นประมาณ 10 เดือน) แน่นอนว่าลูกค้าบางส่วนก็รอให้โอนถ่ายก่อนแล้วค่อยไปติดต่อทีเดียว ทำให้วันแรกมีลูกค้ามาก
  • ประกอบกับการบริหารจัดการคิวไม่ได้เรื่อง พนักงานที่ยืนอยู่ก็กดมือถือไป ไม่เข้ามาถามอะไรลูกค้าเลย ก็เละสิฮะ
  • เหตุการณ์นี้เหมือนเป็นกรณีศึกษาในการรับมือกับลูกค้าปริมาณมากๆ ซึ่งพอรอนานๆ แล้วเห็นพนักงานทำเหมือนไม่มีความกระตือรือล้น ทั้งการไม่เข้ามาถาม หรือกดมือถือ (ซึ่งอาจเป็นกระบวนการทำงานอยู่ก็ได้ – มองแง่ดีแล้วนะ!) มันก็ทำให้ความรู้สึกของลูกค้าก็เป็นไปในทางลบได้
  • จริงๆ พอเห็นลูกค้ามาจำนวนมาก แล้วตัวเองก็ยืนกดมือถือไป (ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นการทำงานหรือคุยเล่น ลูกค้าหงุดหงิดแน่) ก็ควรทำแบบที่หลายๆ ธนาคารทำเวลามีลูกค้ามาก เดินเข้าไปถามเลยมากพอเห็นลูกค้ามีมากๆ ก็ควรเข้าไปสอบถามว่าจะทำรายการอะไร เพราะทุกคนไม่ได้ต้องการติดต่อที่หน้าเคาท์เตอร์ ทำ Mobile Banking หรือโอนถ่ายบัญชีก็ควรถามแล้วแจกเอกสารให้ไปกรอกก่อนแล้วค่อยทำตามคิวก็ได้
  • แต่การทำแบบนี้ก็อาจถูกมองได้ว่าเป็นการลัดคิวลูกค้า ฉะนั้นการเอาใจใส่ลูกค้าที่เข้ามาก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ อาจไม่ต้องตามติดจ้องตาเป็นมัน แค่หมั่นสังเกตก็เพียงพอ
  • ส่วนลูกค้าเอง ก็ควรเลิกทำตัวเป็นคนดีรอคิว นานมากๆ ก็เดินเข้าไปถามพนักงานเลย แม้จะไม่ถึงคิวตัวเองก็เถอะ ไม่งั้นก็รอต่อไปจนรากงอกเถอะ ใครดีใครได้แล้วกันนะ!

สรุป ข้อเตือนใจสำคัญของเรื่องนี้ คือ เดินเข้าไปถามพนักงานเลยถ้ามันนานเกินควร และ อย่าไปทำธุรกรรมการเงินในวันแรกๆ

เพราะมันจะมีเรื่องน่าหงุดหงิดแบบนี้แหละ!

ส่วนตอนนี้ก็ขอย้ายเงินออกไปก่อนนะจ๊ะ ไว้อารมณ์ดีๆ ค่อยกลับมาใหม่แล้วกันนะ

tisco

 

Tags: ,

11 ก.พ. 12 ME by TMB : กล้าไหม? ที่จะผูกบัญชีที่ไม่มีสมุด

เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จัก ME by TMB บริการบัญชีเงินฝากรูปแบบใหม่แล้วนะครับ

ถ้ายังไม่ทราบ หลักการคือเป็นบัญชีที่ไม่มีสมุด ไม่สามารถทำรายการเคาท์เตอร์ได้ ไม่สามารถถอนเงินสดจากบัญชีตรงๆ ได้ เวลาทำรายการทำผ่านเครื่องหรือออนไลน์ทั้งหมด (มีโทรศัพท์ด้วย)

ทีนี้เวลาจะทำการเปิดบัญชี ก็ต้องมีสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารใดก็ได้มาผูกกับบัญชีนี้ เพื่อใช้สำหรับโอนเงินเข้า-ออกจากบัญชี

ปัญหาคือเขาต้องการสมุดบัญชีเงินฝากนะสิ (ถึงแม้ภายหลังจะเพิ่ม Statement ด้วย) ถ้าบัญชีไม่มีสมุดล่ะ?

(เพิ่มเติม…)

Tags: ,